วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 นครพนม


สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่  3  นครพนม-คำม่วน

ตั้งอยู่ที่บ้านห้อม  ตำบลอาจสามารถ  อำเภอเมืองนครพนม  เป็นสะพานที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย  เชื่อมโยงประเทศไทย­­­ – ลาว – เวียดนาม – จีน  อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงสายเอเชีย  โดยเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 เวลา 11.11 น. (11-11-11)

เป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งด้านการค้า และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และภาคใต้ของประเทศจีน นอกจากจะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยวให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย


สะพานมิตรภาพ ไทย ลาว แห่งที่ 3 ก่อสร้างโดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลไทยในวงเงินก่อสร้าง 1,760 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 มีความยาว 780 เมตร เป็นสะพานคอนกรีต ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 212 เส้นทางนครพนม-ท่าอุเทน ในเขตบ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ห่างจากตัวเมืองนครพนม 8 กิโลเมตร และเชื่อมกับประเทศ สปป.ลาว ที่เขตบ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน และอยู่ห่างจากตัวเมืองท่าแขกประมาณ 13 กิโลเมตร

สะพานมิตรภาพไทย–ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม–คำม่วน) มีลักษณะขนาด 2 ช่องทางจราจร ทางรถกว้าง 9.50 เมตร ทางเท้ากว้างข้างละ 1.05 เมตร คอนกรีต แบร์ริเออร์ คั่นระหว่างผิวจราจรกับทางเท้าทั้งสองข้าง กว้างข้างละ 0.35 เมตร และเสาราวสะพาน 2 ข้าง กว้างข้างละ 0.35 เมตร รวมเป็นความกว้างทั้งสิ้น 13.00 เมตร สะพานหลักข้ามแม่น้ำโขง ขนาดความยาว 780.0 เมตร สะพานเชิงลาดฝั่งไทย ขนาดความยาว 555.6 เมตร และสะพานเชิงลาดฝั่งลาวขนาดความยาว 87.5 เมตร รวมความยาวทั้งสิ้น 1,423.1 เมตร 

สะพานฯ แห่งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลวงสายเอเซีย เชื่อมไปยังทางหลวงหมายเลข 8 (นครพนมท่าแขกหลักซาวเมืองวินห์ จังหวัดเงอาน ประเทศเวียดนาม) ระยะทาง 331 กิโลเมตร โดยสามารถเชื่อมโยงไปชายแดนจีนที่ด่านผิงเสียง มณฑลกวางสี และนครหนานหนิง ประเทศจีน และเชื่อมไปเส้นทางหมายเลข 12 ของสปป.ลาว (ท่าแขก สปป.ลาว ดงเฮย จังหวัดกวางบิงห์ เวียดนาม) ระยะทาง 310 กิโลเมตร

เมืองท่าแขก เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ดินแดนในภาคกลางตอนบนและภาคเหนือของเวียดนาม ตามทางหลวงหมายเลข 12 และทางหลวงหมายเลข 8 ที่ตัดผ่านเขตป่ากับภูเขาหินปูนที่มีทัศนียภาพงดงาม ทางหลวงทั้งสองสายดังกล่าว ตัดเป็นแนวเฉียงเหนือ อยู่เหนือทางหลวงหมายเลข 9 (ไกสอนฯ-แดนสะหวัน-ลาวบ๋าว) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีสะพานมิตรภาพ 2 เป็นต้นทาง

นอกจากนี้ ยังถูกกำหนดให้เป็นจุดเชื่อมต่อทางรถไฟจากเวียงจันทน์ ไปยังเวียดนามในอนาคต ปลายทางอีกด้านหนึ่งคือ ท่าเรือหวุงอ๋าง (V?ng Áng) ที่ริมฝั่งทะเลจีนใต้ในจังหวัดห่าตี๋ง (Hà T?nh) เวียดนาม ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกที่รัฐบาลเวียดนามและ สปป.ลาว มีความตกลงร่วมในการอนุญาตให้บริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลสองประเทศเป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่รัฐบาล สปป.ลาว ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อพัฒนาทางออกสู่ทะเลเส้นทางใหม่

เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางเชื่อมโยง ไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ที่สำคัญ ที่นอกจากเป็นเส้นทางขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะผลไม้จากภาคตะวันออกของไทยไปเวียดนามและจีนแล้ว ยังจะเป็นการขยายเส้นทางการท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาคอีกด้วย โดยฝ่าย สปป.ลาว คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากไทยเข้าไปท่องเที่ยวในสปป.ลาวเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 คนต่อปี






0 comments:

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.